ปัญหาน้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำและสร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยปัญหาหนึ่งที่พบมากและต้องรีบดำเนินการแก้ไข คือปัญหาการกีดขวางทางน้ำ การถูกบุกรุกของลำน้ำคูคลอง ถนนขวางทางน้ำ ทำให้ลำน้ำขาดศักยภาพการระบาย โดยปัญหานี้จะเพิ่มและรุนแรงมากขึ้นเมื่อ มีการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีทางภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่มีความยั่งยืน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลที่ดีและมีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการร่วมกับ องค์ความรู้ของชุมชน มีเครื่องมือช่วยการวางแผนในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกันตลอดทั้งลำน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสารสนเทศข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมระบบรองรับข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางน้ำจากผู้เชี่ยวชาญ มาเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ได้อย่างสะดวกและถูกหลักวิชาการ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระบบย่อย ดังต่อไปนี้
1. ระบบนำเสนอข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ที่ได้ทำการสำรวจแล้วและมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญ โดยแสดงในรูปแบบเว็บไซต์
เป็นระบบที่นำข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทำการสำรวจ วิเคราะห์ และบันทึกลงในฐานข้อมูลขึ้นมาแสดงในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น
แผนที่แสดงพิกัดตำแหน่ง ตาราง กราฟ และรายงานงานสรุป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลไปบูรณาการในการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์
2.ระบบแบบสำรวจออนไลน์สำหรับบันทึกข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำและรองรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับพื้นที่ที่ต้องการจะเก็บข้อมูลกีดขวางทางน้ำเพิ่มเติม
โดยผู้ทำการสำรวจลงพื้นที่กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มการสำรวจข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำออนไลน์ประกอบด้วย
- พิกัดที่ตั้งของตำแหน่งและชื่อลำน้ำที่เกิดการกีดขวางทางน้ำ
- ลักษณะทั่วไป ได้แก่ พิกัดของช่วงลำน้ำที่เกิดปัญหา, หน้าตัดและความยาวของช่วงลำน้ำที่เกิดปัญหา และสภาพการดาดผิวของลำน้ำ
- ลักษณะของความเสียหาย ระดับความรุนแรง และความถี่ที่เกิด
- สาเหตุการกีดขวางลำน้ำที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์
- รูปถ่ายที่ตำแหน่งการกีดขวางทางน้ำ
- อื่นๆ
เมื่อผู้สำรวจตกลงส่งแบบสำรวจที่มีข้อมูลครบถ้วนเข้าไปเก็บในระบบแล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลและออกแบบทางวิศวกรรม
พร้อมเสนอแนะรูปแบบแนวทางแก้ไขปัญหากีดขวางทางน้ำดังกล่าว ผ่านทางระบบในแพล็ตฟอร์ม
3.ระบบสนับสนุนให้ความช่วยเหลือในการใช้งานแบบสำรวจและแสดงผลข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำผ่านแอปพลิเคชันไลน์ในรูปแบบแชทบอท (Line-Chatbot) ในชื่อ NIAN-CNX (เนียร์ ซีเอ็นเอ็กซ์)
เป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้งานแพล็ตฟอร์มนี้ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานเสมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว คอยสนับสนุนข้อมูล อำนวยความสะดวก
และให้บริการต่าง ๆ กับผู้ใช้งาน ได้แก่ การค้นหาข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยแสดงข้อมูลที่สอดคล้องกับตำแหน่งพิกัดที่อยู่ของผู้ใช้งาน การสนับสนุนช่วยเหลือในการสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำ
การให้ข้อมูลสนับสนุน บริการติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ และบริการสนับสนุนด้านอื่น ๆ
การเข้าใช้งาน ผู้ช่วยงานทั่วไปสามารถเข้าใช้งานระบบสนับสนุนด้วยการเข้าไปที่แอปพลิเคชันไลน์ และทำการเพิ่มเพื่อนโดยสามารถสแกน QR Code โดยระบบจะแสดงข้อความทักทาย และแนะนำการใช้งาน
พร้อมทั้งแสดงเมนูหลัก โดยระบบจะแสดงข้อมูล 3 หัวข้อ ดังนี้ ข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำในจังหวัดเชียงใหม่ที่ทำแล้วเสร็จ, การสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มเติม และข้อมูลสนับสนุนต่างๆ
ผู้ใช้งานแพล็ตฟอร์มนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมจาก คู่มือ แพลตฟอร์มระบบสารสนเทศสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมรองรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้จัดทำขึ้นอย่างละเอียดโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้จะสามารถนำไปเป็นเครื่องมือสำคัญในกำหนดรูปแบบของการวางแผนแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และลงมือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กร มูลนิธิ และชุมชน