โครงการพัฒนาระบบการสำรวจและบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและดินถล่ม
บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการขั้นสูง

โครงการพัฒนาระบบการสำรวจและบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและดินถล่ม บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการขั้นสูง (Development of Survey and Management System for Flood and Landslide Risk Areas Based on Information Technology and Advanced Management) เป็นโครงการที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2564 (ด้านวิจัยและนวัตกรรม ประเภท Fundamental Fund)



ที่มาและความสำคัญของโครงการ

สืบเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยและสร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลุ่มน้ำปิงและเขตจังหวัดในพื้นที่สูง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เป็นต้น ซึ่งการที่จะลดทอนความสูญเสียได้นั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการและกำหนดทิศทางของการพัฒนาทรัพยากรน้ำของจังหวัดและบูรณาการสู่แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดในภาพรวมอย่างมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการขั้นสูง เพื่อรองรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ของจังหวัดอย่างยั่งยืน และสนองตอบความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบโดยรวม

โดยปัญหาหนึ่งในที่พบมากและประชาชนต้องการให้มีการแก้ไข คือ ปัญหาการกีดขวางทางน้ำ การถูกบุกรุกของลำน้ำคูคลอง ถนนขวางทางน้ำ จนทำให้ลำน้ำขาดศักยภาพการระบายน้ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสีย โดยปัญหานี้จะเพิ่มและรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วและเกิดปัญหาการกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองจำนวนมากกระจายทั่ว โดยในแต่ละปีทางภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่มีความยั่งยืน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลนั้น จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการร่วมกับองค์ความรู้ของชุมชนในฐานะเจ้าของพื้นที่ ในการวางแผนแก้ปัญหาการกีดขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกันตลอดลำน้ำ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาลำน้ำคูคลอง ทางระบายน้ำให้กลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเดิม จึงจำเป็นต้องจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของลำน้ำคูคลอง และถนน โดยเฉพาะปัญหาการกีดขวางทางน้ำ ตำแหน่งและลักษณะที่ถูกบุกรุก ลุกล้ำ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำคัญในกำหนดรูปแบบของการวางแผนแก้ไขปัญหาลำน้ำคูคลองถูกบุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และลงมือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน

นอกจากนั้นด้วยความที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ลาดชัน ซึ่งมีแนวโน้มในการพังทลายของบริเวณดังกล่าวโดยง่ายจากปัจจัยต่อเนื่องจากฝนตกและน้ำท่วมไหลหลาก โดยจะเป็นอันตรายต่อพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยและรวมถึงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดด้วยเช่นกัน โดยการพังทลายของพื้นที่ลาดจะเกิดขึ้นในฤดูฝนเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ในปัจจุบันการที่ไม่มีระบบการจัดการกับการพังทลายของบริเวณความลาดอย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว อีกทั้งต้องเสียงบประมาณและเวลาในการจัดการบริเวณที่มีการพังทลายแล้ว ดังนั้นการพัฒนาแผนที่เขตเสี่ยงภัยดินถล่มบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการขั้นสูง ในบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่เป็นลาดเชิงเขาจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงของการพังทลายของพื้นลาดเชิงเขาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การจัดการและบริหารงานของชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวอยู่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มของจังหวัดเชียงใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



วัตถุประสงค์ของโครงการ โครงการวิจัยนี้เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมและดินถล่มจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ดังนี้
  • กิจกรรมหลักที่ 1 : การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองและถนนที่มีปัญหาการกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศรองรับข้อมูลสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมทั้งรองรับข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ
  • กิจกรรมหลักที่ 2 : การพัฒนาระบบสารสนเทศแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นลาดเชิงเขา เพื่อวางแผนการใช้พื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาจากดินถล่ม


  • ผลผลิต ผลลัพธ์ และประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ
  • ผลผลิตของโครงการสามารถนำไปใช้เป็นหลักการทางเลือกสมัยใหม่ในการสร้างระบบเตือนภัยและป้องกันภัยพิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับชุมชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
  • เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการร่วมกับองค์ความรู้ชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ในการวางแผนเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการ และผลลัพธ์ที่ได้สามารถเป็นแบบแผนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติในพื้นที่ หรือหน่วยงานท้องถิ่น สามารถใช้ข้อมูลของโครงการในการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นตัวช่วยสนับสนนุนการตัดสินใจการในการวางแผนหรือวางโครงการเพื่อขอจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและท้องถิ่น
  • คุยกับน้องผ่าน line ได้นะคะด้วยการเพิ่มน้องเป็นเพือนผ่าน line id: @188hzruo หรือผ่าน QRCode